Tagged: ธรรมวิภาค

วิสุทธิ 7

วิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์ในการประพฤติพรหมจรรย์ มี 7 อย่าง คือ

  1. สีลวิสุทธิ  บริสุทธิ์จากการรักษาศีล
  2. จิตตวิสุทธิ  บริสุทธิ์จากการรักษาจิตในสงบตั้งมั่น
  3. ทิฏฐิวิสุทธิ  บริสุทธิ์จากการทำความเห็นให้ถูกต้อง รู้รูปนามตามกฎสามัญลักษณะ “นามรูปปริจเฉทญาณ”
  4. กังขาวิตรณวิสุทธิ  บริสุทธิ์จากปัญญาที่รู้เหตุปัจจัยที่ทำให้รูปนามที่เป็นอารมณ์ปรากฎขึ้น  เป็นเหตุให้ละความสงสัยในสักกายทิฏฐิตัวตนของรูปนาม
  5. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ  บริสุทธิ์จากปัญญาที่รู้ธรรมพิเศษว่าเป็นทางหรือไม่ใช่ทาง
  6. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ  บริสุทธิ์จากปัญญาที่รู้ทางปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เมื่อรู้แล้วน้อมจิตเข้าสู่วิปัสสนาญาณ ยกรูปนามเป็นอารมณ์ด้วยวิปัสสนาญาณ9 เห็นโลกุตตรธรรม
  7. ญาณทัสสนวิสุทธิ  บริสุทธิ์จากปัญญาที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นเหตุถึงความดับกิเลสตัณหาละสังโยชน์อย่างสิ้นเชิง

วิญญาณฐิติ 7

วิญญาณฐิติ  หมายถึง  ภูมิอันเป็นที่ปฏิสนธิวิญญาณ สัตว์ที่มีสัญญาต่างกัน มีการรับรู้อารมณ์แตกต่างกัน มีความแตกต่างกัน 7 จำพวก ดังนี้

  1. มีกายและสัญญาต่างกัน
  2. มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน
  3. มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน
  4. มีกายและสัญญาอย่างเดียวกัน
  5. เข้าถึงอากาสานัญจายตนฌาน
  6. เข้าถึงวิญญาณัญจายนตนฌาน
  7. เข้าถึงอากิญจัญญายตนฌาน

อนุสัย 7

อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียดที่เมื่อมีสิ่งยั่วหรือกระตุ้นถึงจะแสดงอาการให้เห็น กิเลสชนิดนี้กำจัดได้ด้วยปัญญา มี 7 อย่าง คือ

  1. กามราคะ  ผู้ยินดีกำหนัดหลงใหลในกามทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม
  2. ปฏิฆะ  ความหงุดหงิดด้วยอำนาจโทสะ  เป็นผู้มีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว
  3. ทิฏฐิ  เป็นความเห็นที่ผิดจากธรรมดา
  4. วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัย
  5. มานะ  ความถือตัว มีนิสัยเย่อหยิ่งจองหอง พูดจาโอ้อวด ไม่มีสัมมาคาราวะ ทำให้เป็นคนไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีใครคบหาด้วย ถึงคราวลำบากไม่มีคนช่วยเหลือ
  6. ภวราคะ  ความยินดีในสิ่งที่ตนมีครอบครองและเป็นอยู่
  7. อวิชชา  ความไม่รู้สิ่งต่างๆตามสภาพความเป็นจริง ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม

เมถุนสังโยค 7

เมถุนสังโยค  คือ ความประพฤติที่ยังมัวเมาพัวพันในเมถุน  หากยังประพฤติเมถุนสังโยคแม้ข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่อาจบรรลุมรรคผลใดๆได้ ดังนี้

  1. ยินดีชอบใจต่อการปรนนิบัตรับใช้ทางกายหญิง
  2. ยินดีชอบใจต่อการพูดจาหยอกเย้ากับหญิง
  3. ยินดีชอบใจต่อการจ้องมองสบตากับหญิง
  4. ยินดีชอบใจต่อการฟังเสียงของหญิง
  5. ยินดีชอบใจต่อการนึกถึงเรื่องราวในหนหลัง
  6. ยินดีชอบใจต่อการปฏิบัติรับใช้ของเศรษฐีที่อุปัฏฐากบำรุงตนเป็นเหตุให้ติดความสบาย
  7. มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นเทพจะได้เสวยทิพยสมบัติ

สวรรค์ 6

สวรรค์  คือ  ภพภูมิที่อยู่ของเทวดา มีแต่สิ่งที่สวยงามละเอียดประณีต ความสุข และสิ่งอันเป็นทิพย์เพียบพร้อมด้วยกามคุณ 5 แบ่งเป็น 6 ชั้น คือ

  1. จาตุมหาราชิกา  มีเจ้าแห่งเทวดา (ท้าวมหาราช) ผู้ปกครองเทวดาในชั้นนี้อยู่ 4 องค์ ตามทิศทั้งสี่ อันได้แก่ ท้าวธตรฐอยู่ทิศตะวันออกของเขาสิเนรุปกครองคนธรรพ์ , ท้าววิรุฬหกอยู่ทิศใต้ปกครองกุมภัณฑ์ , ท้าววิรูปักษ์ทิศตะวันตกปกครองนาคเทวดา , ท้าวกุเวรอยู่ทิศเหนือปกครองยักขเทวดา
  2. ดาวดึงส์  ผู้ปกครองชั้นนี้ คือ ท้าวสักกะ (ท้าวโกสีย์ หรือ พระอินทร์) ตั้งอยู่บนยอดเขาสิเนรุ
  3. ยามา  สวรรค์ที่มีความสุขอันเป็นทิพย์ไม่ลำบาก ผู้ปกครองชั้นนี้ คือ ท้าวสุยาม
  4. ดุสิต  เป็นสวรรค์ที่อยู่ของเทวดาผู้มีปัญญา พระโพธิสัตว์ก่อนจะเกิดในโลกมนุษย์และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจะเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้เป็นชั้นสุดท้าย  พุทธมารดาเมื่อครั้งทิวงคตแล้วก็เสด็จมาเกิดในชั้นนี้ ผู้ปกครองคือ ท้าวสันดุสิต
  5. นิมมานนรดี  เป็นสวรรค์ที่เวดาผู้เนรมิตกามคุณขึ้นตามความปรารถนาของตนแล้วเพลิดเพลินชื่นชมกับอารมณ์ที่เนรมิตขึ้นนั้น  สวรรค์สี่ชั้นแรกจะมีคู่ครองตามบุญญาธิการของตน ส่วนในชั้นนี้และชั้นที่ 6 ไม่มีคู่ครองประจำ เวลาปรารถนาในกามคุณจะเนรมิตเอาเมื่อเสร็จกิจแล้วกามคุณที่เนรมิตก็จะหายไป  ผู้ปกครองคือ ท้าวนิมมิตะ
  6. ปรินิมมิตตวสวตตี  สวรรค์ชั้นสูงสุดนี้เทวดาที่ต้องการเสวยทิพยสมบัติจะมีเทวดาผู้อื่นคอยเนรมิตให้  สวรรค์ชั้นนี้มี 2 เขตแดน คือ แดนเทวดา และแดนมาร มีชื่อผู้ปกครองคล้ายกันคือ ท้าวปรนิมมิตตวสวตีเทวราช หรือ มารราชาธิราช ตามแต่เขตแดนที่ตนปกครอง

ธรรมคุณ 6

ธรรมคุณ  คือ  คุณของพระธรรม , ลักษณะของพระธรรม  มี 6 อย่าง คือ

  1. สวากขาโต ภควตา ธัมโม  พระธรรมเป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
  2. สันทิฏฐิโก  ผู้ศึกษาปฏิบัติและบรรลุจะเห็นได้ด้วยตนเอง
  3. อกาลิโก  สามารถปฏิบัติและเห็นผลได้ตลอดเวลา ไม่จำกัดเวลา
  4. เอหิปัสสิโก  ควรเชื้อเชิญให้ผู้อื่นได้มาดูศึกษาและปฏิบัติ
  5. โอปนยิโก  ทุกคนควรนำพระธรรมมาศึกษาและปฏิบัติ
  6. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ  ผู้บรรลุผู้เข้าถึงธรรมย่อมรู้ได้เฉพาะตน เป็นสิ่งที่บอกกล่าวให้ผู้อื่นมารับรู้ด้วยได้ยาก

อภิฐาน 6

อภิฐาน คือ กรรมหนักที่พุทธบริษัทสี่อาจกระทำได้ แต่พระตั้งแต่โสดาบันขึ้นไปจะไม่กระทำ โดยห้าข้อแรกตรงกับ อนันตริยกรรม ส่วนที่เพิ่มมาคือในข้อ ที่ 6 มี 6 อย่าง ดังนี้

  1. มาตุฆาต  ฆ่ามารดา
  2. ปิตุฆาต  ฆ่าบิดา
  3. อรหันตฆาต  ฆ่าพระอรหันต์
  4. โลหิตุปบาท  ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ห้อเลือด
  5. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกั
  6. อัญญสัตถุทเทส นับถือศาสดาอื่น ได้แก่ พระที่แปรเปลี่ยนไปนับถือศาสดาอื่นในขณะที่ตนเป็นพระภิกษุอยู่ถือว่าดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนาและศาสดาเดิมของตน

อภิญญา 6

อภิญญา หมายถึง ความรู้ยิ่ง, ปัญญาหยั่งรู้ๅ  เป็นการกำหนดรู้ได้ด้วยอำนาจการบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ผู้บรรลุด้วยเจโตวิมุตติวิธี มี 6 อย่าง คือ ( แสดงฤทธิ์ได้,หูทิพย์,ตาทิพย์,กำหนดรู้ใจผู้อื่น,ระลึกชาติ,ทำอาสวะให้สิ้นไป)

  1. อิทธิวิธี  แสดงฤทธิ์ได้ ด้วยอำนาจที่สามัญชนไม่อาจทำได้
  2. ทิพพโสต  หูทิพย์  ได้ยินเสียงที่ไกลหรือเบามากๆได้
  3. เจโตปริยญาณ  กำหนดรู้ใจผู้อื่น ทายความคิดเขาได้
  4. ปุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติได้ว่าในชาติก่อนได้เกิดเป็นอะไร เป็นใคร  เรื่องราวอย่างไร
  5. ทิพพจักขุ  ตาทิพย์ เห็นสิ่งที่อยู่ไกลหรืออยู่ในที่กำบังตาได้ เห็นการจุติและอุบัติของสัตว์เหมือนกับว่าเห็นด้วยตนเอง
  6. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำให้อาสะสิ้นไป คือ รู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

พระอนาคามี 5

พระอนาคามี คือ อริยบุคคลผู้ไม่กลับมาเกิดในกามภูมิอีก หลังจากตายไปจะไปเกิดในสุทธาวาสภูมิตามกำลังอินทรีย์ หากไม่บรรลุอรหัตตผลในภูมินั้นก็จะจุติไปอยู่ในภูมิที่สูงกว่า จะไม่จุติซ้ำในภูมิเดิมหรือต่ำกว่าเดิม มี 5 ประเภท คือ

  1. อันตราปรินิพพายี  ปฏิสนธิในสุทธาวาสภูมิแล้วบรรลุอรหัตตผล และจะนิพพานภายในเวลาไม่ถึงกึ่งแรกแห่งอายุขัยของภูมินั้นๆ
  2. อุปหัจจปรินิพพายี  ปฏิสนธิในสุทธาวาสภูมิแล้วบรรลุอรหัตตผล และจะนิพพานภายในกึ่งหลังของอายุขัยของภูมินั้นๆ
  3. สสังขารปรินิพพายี  ปฏิสนธิในสุทธาวาสภูมิแล้วบรรลุอรหัตตผลได้อย่างลำบากต้องใช้ความพยายามอย่างมากแล้วถึงจะนิพพาน
  4. อสังขารปรินิพพายี  ปฏิสนธิในสุทธาวาสภูมิแล้วบรรลุอรหัตตผลได้สะดวกไม่ยากลำบาก แล้วถึงจะนิพพาน
  5. อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี  ปฏิสนธิในสุทธาวาสภูมิไปตามลำดับชั้นแล้วบรรลุอรหัตตผล แล้วถึงจะนิพพานในอกนิฏฐภูมิ

สุทธาวาส 5

สุทธาวาส  หมายถึง  ภูมิที่เกิดของบุคคลผู้เจริญสมถะจนได้จตุตฌาณและเจริญวิปัสสนาจนได้ตติยมรรค  อันได้แก่ อริยบุคคลชั้นอนาคามี  เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วจะไปเกิดในสุทธาวาสภูมิแน่นอน อยู่ที่ว่ามีอินทรีย์ 5 อย่างไหนมีอำนาจมากกว่ากันเป็นตัวกำหนดชั้นที่จะไปเกิด  สุทธาวาส มี 5 ชั้น ดังนี้

  1. อวิหา  ภูมิของพรหมที่อยู่ในชั้นและสมบัติจนหมดอายุขัย บุพกรรมคือ อำนาจสัทธินทรีย์ (ศรัทธา)
  2. อตัปปา  ภูมิของพรหมที่มีความสงบเยือกเย็นไม่เดือดเนื้อร้อนใจ บุพกรรม คือ อำนาจวิริยินทรีย์ (ความเพียร)
  3. สุทัสสา  ภูมิของพรหมที่มีร่างกายสวยงาม,เห็นสิ่งต่างๆได้อย่างแจ่มชัด บุพกรรมคือ สตินทรีย์ (สติ)
  4. สุทัสสี  ภูมิของพรหมที่มีความบริบูรณ์มากกว่าสุทัสสาพรหม บุพกรรมคือ สมาธินทรีย์ (สมาธิ)
  5. อกนิฏฐา  ภูมิของพรหมที่สมบูรณ์ด้วยทิพยสมบัติและความสุขอันหาได้ยากในภูมิอื่นเรียกว่า ภวัคคภูมิ บุพกรรมคือ ปัญญินทรีย์ (ปัญญา)